มาตรการป้องกันฝุ่นละอองในบริเวณงานก่อสร้าง

ปัจจุบันมีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ทั้งอาคาร ถนน โครงการรถไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จึงก่อให้เกิดฝุ่นละอองซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้คนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงบริเวณก่อสร้างด้วย ฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างเหล่านี้ถ้าขาดการควบคุมอย่างถูกต้อง ย่อมมีผลกระทบต่อบุคคล และสภาพแวดล้อมเป็นอย่างสูง ดังนั้นจึงควรมีมาตรการในการควบคุม และป้องกันการเกิดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ดังนี้
 
 
1. บริเวณโดยรอบการก่อสร้าง ต้องจัดทำรั้วทึบแข็งแรงสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร รอบสถานที่ก่อสร้าง และมีสิ่งปกคลุมทางเดินสำหรับป้องกันวัสดุตกหล่นลงในที่สาธารณะ
2. บริเวณตัวอาคาร ต้องใช้ผ้าใบทึบ หรือโปร่งแสง หรือวัสดุอื่นที่เหมาะสม ปิดกันสิ่งก่อสร้างป้องกันเศษวัสดุก่อสร้างร่วงหล่น และฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย
3. จัดให้มีการฉีดสเปรย์น้ำตามบริเวณขอบรั้ว และด้านในสถานที่ก่อสร้าง เพื่อเป็นการดักฝุ่น และทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง มิให้ฟุ้งกระจายสู่ด้านนอกพื้นที่ก่อสร้าง
4. จัดทำทางเข้า-ออกให้ชัดเจน
  • ทางเข้าออกควรมีช่องทางเดียว ควรใช้ยางแอลฟัลต์ หรือคอนกรีตปูบริเวณทางเข้า-ออก
  • ทางเข้าออกต้องไม่กีดขวางช่องทางน้ำไหล และไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบระบายน้ำ หรือกีดขวางช่องทางน้ำสาธารณะ
  • ต้องดูแลรักษาความสะอาดทางเท้า ถนน และที่สาธารณะที่อยู่ติดกับที่ก่อสร้าง
  • ต้องทำความสะอาดรถขนวัสดุ หรือดินจากการก่อสร้างทุกครั้ง เมื่อต้องออกจากบริเวณก่อสร้าง
5. การผสมคอนกรีต การไสไม้ หรืองานที่ทำให้เกิดมลภาวะ ควรทำในห้อง หรือที่กันบริเวณโดยเฉพาะ มีหลังคา หรือมีผ้าคลุม และผนังปิดด้านข้างทั้งสามด้าน
 
 
 
 
6. การเจาะตัด ขัดผิววัสดุด้วยเครื่องจักรที่ทำให้เกิดฝุ่น และมลภาวะต้องฉีดน้ำ หรือสารเคมีบนผิวอย่างต่อเนื่องขณะปฏิบัติงาน เว้นแต่จะมีการเตรียมห้องเจาะ หรือขัดโดยเฉพาะที่ติดตั้งอุปกรณ์แยกฝุ่น หรือกรองฝุ่นไว้แล้ว
7. ปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง โดยพยายามใช้วัสดุที่ผลิตสำเร็จรูปจากภายนอกมาติดตั้ง เพื่อลดฝุ่น เช่น การใช้ Precasted Concrete Wall สำหรับผนังภายนอก, ใช้ระบบห้องน้ำสำเร็จรูป หรือการใช้โครงสร้างเหล็กแทนโครงสร้างคอนกรีต
8. การกองวัสดุก่อสร้าง
  • ผงซีเมนต์ หรือเคมีภัณฑ์ ควรบรรจุอยู่ในภาชนะที่มิดชิด
  • กองวัสดุที่มีฝุ่น ควรปิด หรือคลุมในที่ปิดล้อมทั้งด้านบน และด้านข้างสามด้าน หรือฉีดพรมน้ำให้ผิวเปียกอยู่เสมอ
  • เมื่อมีการขนย้ายวัสดุที่มีฝุ่น ต้องฉีดพรมน้ำก่อนย้ายทันที
  • ไม่วางกอง หรือเก็บวัสดุเครื่องมือ เครื่องใช้ ชิ้นส่วนโครงสร้างในที่สาธารณะ นอกจากขออนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อน และต้องมีการป้องกันอันตรายต่อบุคคล และทรัพย์สิน รวมทั้งติดตั้งไฟให้สว่างเพียงพอในเวลากลางคืน
9. การขนย้ายวัสดุ
  • การขนย้ายวัสดุที่เป็นฝุ่น ให้เก็บรวบรวมใส่ถุง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น ก่อนที่จะรวบรวมกันขนออกจากหน่วยงานก่อสร้าง
  • รถบรรทุกวัสดุ หรือเศษวัสดุก่อสร้างต้องมีผ้าใบคลุมมิดชิด
  • รถบรรทุกต้องไม่บรรทุกน้ำหนักเกินตามมาตรฐานของถนนที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้
  • ไม่ล้างรถยนต์ หรือล้อเลื่อนในบริเวณที่จะทำให้ถนน หรือที่สาธารณะสกปรก
  • ไม่ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้างที่ติดค้างมากับรถบรรทุกลงบนถนน ทางระบายน้ำ หรือที่สาธารณะ
  • ต้องทำความสะอาดรถบรรทุก รถลาก ล้อ ก่อนจะออกจากบริเวณก่อสร้างทุกครั้ง
10. การย้ายวัสดุด้วยสายพานที่ทำให้เกิดฝุ่น
  • ต้องทำหลังคาปิดด้านบน และปิดด้านข้างทั้งสองด้านให้มิดชิด
  • ติดตั้งอุปกรณ์สำหรับกำจัดเศษวัสดุที่ตกค้างอยู่บนสายพาน และจัดเก็บให้เรียบร้อยก่อนเศษวัสดุจะตกลงสู่พื้น
 
 
 
 
11. การเก็บเศษวัสดุเหลือใช้
  • ต้องคลุมผ้า หรือจัดทำห้องเก็บให้มิดชิดทั้งด้านบน และด้านล่าง
  • ขนจากที่สูงควรจัดทำปล่อง หรือวิธีการที่เหมาะสมมิดชิดสำหรับทิ้ง หรือลำเลียงเศษวัสดุขนย้ายเศษวัสดุ ขยะ สิ่งปฏิกูลออกจากที่ก่อสร้างอย่างน้อยทุกสองวัน หรือจัดเก็บในที่มีขนาดเพียงพอ โดยทำความสะอาดต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อน
  • ลำเลียงทางปล่อง ปลายปล่องที่ใช้ทิ้งเศษวัสดุ ต้องสูงจากระดับพื้น หรือวัสดุรองรับไม่เกินหนึ่งเมตร
12. ระหว่างก่อสร้างหากกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใดจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาจก่อให้เกิดความรำคาญ และเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น ผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เจ้าของงานต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด
13. การก่อสร้างเสร็จแล้ว
  • ต้องจัดเก็บเศษวัสดุที่เหลือ และทำความสะอาดสถานที่ก่อสร้าง และรอบสถานที่โดยเร็ว
  • ล้างท่อระบายน้ำ ทำความสะอาดทางระบายน้ำสาธารณะไม่ให้มีเศษวัสดุจากการก่อสร้าง
  • การเชื่อมต่อกับสาธารณูปโภค เช่น เป็นทางเข้า-ออก เชื่อมท่อระบายน้ำ-ประปา ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับส่วนรวม และปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด
 
 
 
  CR : ขอบคุณบทความที่ดีจาก eit.bookcaze.com และรูปภาพสวย ๆ จาก positioningmag.comkhaosod.co.th