มารู้จักโมเดลนวัตกรรม ‘ธนาคารน้ำ (ระบบปิด)’ สำหรับแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมกันค่ะ

เดิมจังหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่แห้งแล้ง นวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน ระบบปิด ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้โดยไม่ต้องซื้อน้ำ นอกจากช่วยให้มีน้ำใช้ตลอดเวลาแม้ช่วงแห้งแล้งแล้ว ยังช่วยบริหารน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้อีกด้วย
 
 
ที่มาโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด)
เกิดจากแนวคิดของหน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ต้องการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง จากเดิมจังหวัดชัยนาทเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ทำให้ชาวบ้านประสบปัญหาไม่มีน้ำกินน้ำใช้ ดังนั้นหน่วยงานท้องถิ่นจึงมีแนวคิดที่จะทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) เพื่อกักเก็บน้ำ โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เข้าไปสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งมีโครงการที่จะทำธนาคารน้ำจำนวน 155 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3-4 หมู่บ้านในตำบลอีกด้วย
 
 
 
ข้อดี คือ สามารถทำให้น้ำไหลลงบ่อใต้ดินได้รวดเร็วมาก ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยในช่วงฤดูฝนนั้น สามารถรีชาร์จน้ำลงบ่อได้รวดเร็ว ลดการท่วมขังในพื้นที่ ส่วนหน้าแล้งสามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้มาใช้ได้ ยังช่วยทำให้ดินชุ่มน้ำ และอุ้มน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณที่ทำธนาคารเกิดตาน้ำ (ทางน้ำเล็กๆ ที่อยู่ใต้ดิน มีน้ำไหลตลอดไม่ขาดสาย) และหลังจากนั้นประชาชนก็จะสามารถขุดน้ำบาดาลและน้ำประปาขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องซื้อน้ำเหมือนที่ผ่านมา
 
 
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) มีดังนี้
หินใหญ่คละขนาด ขนาด 15-30 ซม. หินย่อยขนาดเล็ก (3/4) ผ้ามุ้ง หรือผ้าตาข่าย หรือจีโอเท็กซ์ไทล์
ท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว ความยาวประมาณ 2 เมตร ท่อพีวีซีสามทาง หรือท่อพีวีซีตัวแอล ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 นิ้ว หรือ 3 นิ้ว
 
 
ส่วนขั้นตอนการทำแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้
เริ่มจากสำรวจจุดรวมน้ำ หรือจุดที่น้ำท่วมขัง โดยขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมหรือวงกลมให้ทะลุชั้นดินเหนียว ขนาดขึ้นอยู่กับธรณีวิทยาของแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร ลึก 1.5 เมตร แล้วจึงตั้งท่อ PVC (ท่ออากาศ) ตรงกลางบ่อ 90 องศา พร้อมนำวัสดุ อิฐ หิน ทรายใส่ลงในบ่อ (เศษวัสดุต้องไม่ปนเปื้อนสารเคมี) สูงประมาณ 1.30 เมตร นำผ้ามุ้ง หรือผ้าสแลน ปูทับด้านวัสดุหยาบ (เป็นการกรองวัสดุที่ไหลมากับน้ำไม่ให้ลงไปในบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน และป้องกันไม่ให้หินเกล็ดหล่นในช่องว่างของวัสดุหยาบ) สุดท้ายนำหินขนาดเบอร์ 1 (3/4) โรยทับบนผ้ามุ้ง หรือผ้าสแลนจนเสมอปากบ่อหนา 10-20 ซม. (ป้องกันเศษใบไม้ ใบหญ้า ตะกอนดิน ไม่ให้ลงไปอุดตันวัสดุหยาบ) การทำธนาคารน้ำนี้จำเป็นจะต้องมีการศึกษาด้านธรณีวิทยา และด้านภูมิศาสตร์เพื่อหาจุดลุ่มต่ำ หรือจุดที่เป็นทางน้ำไหล เพื่อทำให้น้ำสามารถไหลลงธนาคารน้ำใต้ดินได้ ซึ่งสามารถเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้ไม่น้อยกว่า 6 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง หรือ 6,000 ลิตรต่อชั่วโมง 
 
 
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้นวัตกรรมธนาคารน้ำ (ระบบปิด) อาจได้ผลกับพื้นที่อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท เท่านั้น แต่กับพื้นที่จังหวัดอื่นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนการทำธนาคารน้ำ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่าหากนวัตกรรมเหล่านี้เข้าไปอยู่ในระบบของพื้นที่เหล่านั้นจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากแบบนี้ได้
 
  CR : ขอบคุณบทความที่ดีจาก thestandard และรูปภาพสวย ๆ จาก mgronline

บทความอื่นๆ